โครงการย่อย

การศึกษาเปรียบเทียบโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจบนพื้นที่มุกดาหารและสะหวันนะเขตภายใต้กระแสการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

        ภายหลังจากการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นอุดมการณ์ทางการเมืองของโลกเสรีนิยมประชาธิปไตยกับโลกแบบสังคมนิยมไม่ใช่อุปสรรคในการสร้างความร่วมมือต่อกันอีกแล้ว ลุ่มน้ำโขงถูกรวบเข้ากับยุคของโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นยุคที่เรียกต่อจากยุคของสงครามเย็นโดยเป็นยุคที่ไร้พรมแดนการเชื่อมต่อของผู้คน สินค้า และอื่นๆสามารถเคลื่อนไปอย่างเสรีมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเส้นเขตแดนของรัฐชาติก็ไม่ใช่อุปสรรคที่ขวางกั้นอีกต่อไป (สุรสม กฤษณะจูฑะ, 2552) ความร่วมมือภายใต้กรอบ GMS (Greater Mekong Sub-regionโดยการสนับสนุนของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์เช่นกัน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20โลกได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ขึ้น คือการรวมกลุ่มกันโดยใช้พื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นการสร้างความร่วมมือกันในรูปแบบขององค์การระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค และเกิดเป็นการพึ่งพากันและกันในทางเศรษฐกิจที่สูง (อัจฉรา บรรจงประเสริฐ, 2553) เพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะการสร้างคามเชื่อมโยงกันทางเส้นทางคมนาคมที่จะช่วยให้เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนและสินค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เป็นการเพิ่มศักยภาพการค้าค้าการลงทุน ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาประเทศ สร้างโอกาสในการจ้างงานและขจัดความยากจนของประเทศสมาชิกด้วย พื้นที่มุกดาหารและสะหวันนะเขตภายใต้แผนงานของGMS (GMS Flagship Programs) ทั้ง11แผนงานนั้น แผนงานพัฒนาแนวพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor: EWEC)

          จากแนวนโยบายดังกล่าว จังหวัดมุกดาหารได้ถูกกำหนดในยุทธศาสตร์ให้รองรับการเป็นศูนย์การผลิต รวบรวม แปรรูป และกระจายสินค้า (distribution center) โดยมีบทบาทสำคัญในการรองรับสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ในภาพรวมแล้ว ด้วยศักยภาพอันโดดเด่นจากการที่มีพรมแดนติดกับ สปป. ลาว โดยเชื่อมโยงกับแขวงสะหวันนะเขตด้วยสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 2 และตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกและตะวันตก (EWEC) มุกดาหารถูกกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และประตูการค้า (gateway) สู่ประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้ (ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, 2558) 

1. ตั้งอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สินค้าเกษตรจาก สปป. ลาว และสินค้าประมงจากเวียดนาม ทำให้สามารถรวบรวมสินค้าได้ง่าย

2. การขนส่งสะดวก สามารถขนส่งสินค้าไปยังตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย - ลาวแห่งที่ 2  เอื้อให้จังหวัดมุกดาหารมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าที่สำคัญ

3. ตั้งอยู่ใกล้แหล่งผลิตสินค้าสำคัญ อาทิ เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน (Savan-Seno Special Economic Zone) หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษลาวบ่าว (Lao Bao Special Economic – Trade Zone) ในจังหวัดกวางจิของเวียดนาม  ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่พัฒนาได้รวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งทางภาคกลางของเวียดนาม ตั้งอยู่บนเส้นทางหมายเลข 9

4. ความพร้อมด้านสาธารณูปโภคของมุกดาหาร ที่ผ่านมาจังหวัดมุกดาหารได้รับการพัฒนาและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานหลายโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างทางหลวงมุกดาหาร-ขอนแก่น-พิษณุโลก-ตาก และโครงการก่อสร้างทางหลวงท่าเรือแหลมฉบัง-สระแก้ว-สุรินทร์-ยโสธร-มุกดาหาร เป็นต้น เพื่อให้พร้อมรองรับ การเป็นศูนย์การผลิต รวบรวม แปรรูป และกระจายสินค้า (Distribution Center) โดยมีบทบาทในการ 1) รองรับสินค้าภายในประเทศ เป็นจุดรวบรวม กองเก็บ ให้บริการขนส่ง และกระจายสินค้า 2) รองรับสินค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นลานกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ โรงพักและบรรจุสินค้า คลังสินค้า จุดให้บริการขนส่งสินค้า 3) ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) และการให้บริการศุลกากรแบบตรวจสอบ ณ จุดเดียว (Single Step Inspection : SSI) โดยให้ข้อมูล ประสานงาน และพิจารณาอนุมัติการประกอบกิจการ เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ

สำหรับแขวงสะหวันนะเขต ซึ่งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ เป็นจุดกึ่งกลางการเชื่อมต่อด้านคมนาคมทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ ทั้งในประเทศและภูมิภาค เปรียบเหมือนกระดูกสันหลังของ สปป. ลาว เนื่องจากตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง เชื่อมโยงนครหลวงเวียงจันทร์ด้วยเส้นทางหมายเลข 13 ซึ่งถือเป็นเส้นทางคมนาคมสายสำคัญที่สุดของประเทศ (BOI, 2558) ซึ่งเชื่อมภาคใต้ กลาง และเหนือของประเทศ(Laine, 2013) สะหวันนะเขตยังตั้งอยู่บนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมโยงกับจังหวัดมุกดาหารด้วยสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 และเครือข่ายถนนต่อไปยังเวียดนาม นอกจากนั้นยังเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ในกัมพูชาด้วยเส้นทางหมายเลข 13 ทั้งนี้ ศักยภาพอันโดดเด่นด้านอื่นของแขวงสะหวันนะเขตยังประกอบด้วย การเติบโตทางเศรษฐกิจ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน เพื่อส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนการมีพื้นที่กว้างขวาง และอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร (สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต2558)

ด้วยความโดดเด่นทางยุทธศาสตร์ของแขวงสะหวันนะเขต และความตระหนักถึงโอกาสทางเศรษฐกิจจากการปรับปรุงเส้นทางและสะพานตามโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกภายใต้กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว จึงมีดำริจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน- เซโน (Savan-Seno Special Economic Zone : SASEZ) เป็นเขตเศรษฐกิจแห่งแรกของประเทศในปี พ.ศ. 2546 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างโอกาสการก้าวขึ้นสู่ประเทศอุตสาหกรรมที่มีความทันสมัย โดยอาศัยศักยภาพด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ในการเชื่อมต่อภูมิภาค 2) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน 3) ส่งเสริมและดึงดูดนักลงทุนภายในและต่างประทศ  ตลอดจนการให้ความคุ้มครองและส่งเสริมผู้ประกอบการทุกรายที่ดำเนินธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด้วยความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย 4) สร้างงานและพัฒนาฝีมือแรงงงาน ให้มีความรู้ความสามารถ 5) เป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การเงิน การบริการ และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยระหว่าง ระหว่าง สปป. ลาวกับต่างประเทศ และ 6) สร้างเขตที่มีความพิเศษทางด้านระบบภาษี สำหรับสินค้านำเข้าและส่งออก ภายใต้รัฐธรรมนูญและอธิปไตยของสปป. ลาว (ศุภชัย วรรณเลิศสกุล2553)

สำหรับประเภทธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน  ประกอบด้วย

  1. ธุรกิจการผลิตและการแปรรูป เช่น การผลิตสินค้าสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การประกอบชิ้นส่วนให้เป็นสินค้าสำเร็จรูป การแปรรูปสินค้านำเข้าเพื่อส่งขายต่อภายในหรือต่างประเทศ การแปรรูปสินค้าเกษตร การผลิตสินค้าหัตถกรรม โรงงานรับบรรจุหีบห่อสินค้าและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
  2. ธุรกิจการค้า เช่น ร้านค้าปลอดภาษี การขายส่งสินค้าผ่านแดนปลอดภาษี การขายส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ภายใน (เช่น สินค้าหัตถกรรม ไม้เนื้อหอม และอื่นๆ ) ศูนย์แสดงสินค้า ห้างสรรพสินค้า ศูนย์ประชุม การส่งออก นำเข้า และการค้าผ่านแดน
  3. ธุรกิจบริการและการจัดส่งกระจายสินค้า (Logistics) เช่น ระบบโกดังเก็บสินค้าศูนย์กระจายสินค้า บริษัทรับเหมาขนส่ง โรงแรม อาคารหรือสานักงานให้เช่า บ้านจัดสรร บริษัทนาเที่ยวการพัฒนาแหล่งพักผ่อน สถานที่เล่นกีฬา สวนสนุก แหล่งท่องเที่ยว ธนาคารหรือสถาบันการเงิน การประกันภัย กองทุนสวัสดิการสังคม โรงเรียนวิชาชีพและพัฒนาฝีมือแรงงาน โรงเรียนสามัญศึกษา มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ร้านอาหาร ไปรษณีย์
  4. .สำนักงานตัวแทนและสาขาบริษัทภายในหรือต่างประเทศ เช่น สำนักงานตัวแทนการค้าเพื่อส่งเสริมการส่งออก ด้านการท่องเที่ยว สาขาบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ สาขาบริษัทการบินและการขนส่งต่างประเทศ (ข้อมูลการค้ามุกดาหาร2558 และ สถานกงสุลใหญ่ แขวงสะหวันนะเขต2558)

อย่างไรก็ตามภายใต้แรงผลักของกระแสการบูรณาการไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558 มุกดาหารได้ถูกรัฐบาลประกาศให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยรัฐจะให้การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน การบริหารแรงงานต่างด้าวแบบไป-กลับ การให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ และมาตรการอื่นที่จำเป็น โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และแก้ปัญหาความมั่นคง ด้วยยุทธศาสตร์การสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ การสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) และการจัดระเบียบพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน โดยครอบคลุม 11 ตำบลของจังหวัดมุกดาหาร ขนาดพื้นที่ 578.5 ตารางกิโลเมตร ในอำเภอเมือง อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอดอนตาล โดยพิจารณาจากเกณฑ์การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษดังนี้ 1) ตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์มีความได้เปรียบ การคมนาคม การผ่านแดน การเข้าถึงปัจจัยการผลิต และการตลาด 2) พื้นที่มีศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนา ฐานการผลิตที่โดดเด่น มีโอกาสขยายตัว มีความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ไม่มีภัยพิบัติรุนแรง และไม่มีผลกระทบความมั่นคง 3) พื้นที่มีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาเป็นพิเศษหรือเร่งด่วน มีข้อตกลงระหว่างประเทศหรือต้องพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัด และ 4) ประชาชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่ให้การยอมรับและสนับสนุน

กล่าวได้ว่าจากการรับรู้เดิมที่ว่า มุกดาหารและสะหวันนะเขตจะมีบทบาทในการเกื้อกูลกันภายใต้โครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยมีหลักอยู่ว่าสะหวันะเขตจะมีสถานะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยมีเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน- เซโน (Savan-Seno Special Economic Zone : SASEZ) เป็นโครงการหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ทางฝั่งมุกดาหารจะมีบทบาทเป็นศูนย์การผลิต รวบรวม แปรรูป และกระจายสินค้า (distribution center) แต่ด้วยแรงผลักจากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้ประกอบสร้างให้มุกดาหารกลายมาเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเช่นเดียวกับฝั่งสะหวันนะเขต ดั้งนั้นความท้าท้ายของการพัฒนาบนทั้งสองพื้นที่จึงเกิดขึ้นมาว่า ทั้งสองพื้นที่จะสามารถคงสถานะการเกื้อกูลกันในการพัฒนาทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้หรือไม่ อย่างไร ตลอดจนมุกดาหารและสะหวันนะเขตจะกลายมาเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจระหว่างกันหรือไม่ อย่างไร

จากสภาพปัญหาข้างต้น ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาเปรียบและวิเคราะห์ถึงโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและนโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจบนพื้นที่มุกดาหารและสะหวันนะ  ตลอดจนผู้วิจัยจะทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาอย่างรอบด้าน เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปภายใต้ความร่วมมือหรือการแข่งขันของพื้นที่ทั้งสองพื้นที่

 

วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย

  1.  เพื่อศึกษาเปรียบและวิเคราะห์ถึงโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและนโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจบนพื้นที่มุกดาหารและสะหวันนะเขต
  2.   เพื่อศึกษาเปรียบเทียบ วิเคราะห์ และสังเคราะห์ถึงข้อมูลที่ได้มาอย่างรอบด้าน 

        ภายหลังจากการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นอุดมการณ์ทางการเมืองของโลกเสรีนิยมประชาธิปไตยกับโลกแบบสังคมนิยมไม่ใช่อุปสรรคในการสร้างความร่วมมือต่อกันอีกแล้ว ลุ่มน้ำโขงถูกรวบเข้ากับยุคของโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นยุคที่เรียกต่อจากยุคของสงครามเย็นโดยเป็นยุคที่ไร้พรมแดนการเชื่อมต่อของผู้คน สินค้า และอื่นๆสามารถเคลื่อนไปอย่างเสรีมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเส้นเขตแดนของรัฐชาติก็ไม่ใช่อุปสรรคที่ขวางกั้นอีกต่อไป (สุรสม กฤษณะจูฑะ, 2552) ความร่วมมือภายใต้กรอบ GMS (Greater Mekong Sub-region) โดยการสนับสนุนของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ก็เ...